About REFOCUS

รวบรวมสิ่งที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับระบบอาหาร



นิยามของระบบอาหาร


⠀⠀⠀⠀1. อาหาร หมายถึง สิ่งที่รับประทานเข้าไปแล้วทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ นม เป็นต้น ( ที่มา : https://bit.ly/38zaNym )

⠀⠀⠀⠀2. ระบบอาหาร หมายถึง เครือข่ายขององค์ประกอบต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เกี่ยวข้องกับอาหารทั้งในกระบวนการผลิต การแปรรูป การกระจายสินค้า การค้าปลีก การบริโภค การกำจัดของเสีย รวมถึงสิ่งที่มีอิทธิพลอื่นๆ เช่น สภาพอากาศ การเมือง วัฒนธรรม เป็นต้น ( ที่มา : https://bit.ly/39qwP6M )

⠀⠀⠀⠀3. กระบวนการในระบบอาหาร ประกอบด้วย 8 ปัจจัย ได้แก่

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀การผลิต (Production) ประกอบด้วย 4 รากฐาน คือ ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ฐานระบบการผลิต ฐานผู้ผลิต และฐานวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งต้นทางของอาหารเกิดจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่มาของอาหาร ( ที่มา : https://bit.ly/38zbgk6 )

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀การแปรรูป (Processing) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพของวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อการถนอมอาหาร เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างความหลากหลาย เพื่อความสะดวกต่อการบริโภค หรือเพื่อการขนส่งและการเก็บรักษา ( ที่มา : https://bit.ly/3sCuso6 )

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀การขนส่ง (Distribution) ประกอบด้วย การเคลื่อนย้าย (movement) การจัดเก็บรักษา (storage) การป้องกันความเสียหาย (prevention) การจัดส่งสินค้า (delivery) และการควบคุม (control) เพื่อให้ได้วัสดุและสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้ผลิต และลูกค้าหรือผู้บริโภคคนสุดท้าย ( ที่มา : https://bit.ly/3Niziyu )

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀การจัดเก็บ (Storage) การจัดวางสินค้าไว้ในสินค้าคงคลังเพื่อให้สินค้าพร้อมสำหรับกระบวนการผลิต หรือเพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าได้สะดวกรวดเร็ว มี 3 รูปแบบตามหลัก ISO คือ Dry Store (ของแห้ง จัดเก็บที่อุณหภูมิปกติ), Chilled Store (จัดเก็บแบบแช่เย็น -1°C ถึง +2°C) และ Freezer Store (จัดเก็บแบบแช่แข็ง -18°C ถึง -40°C) ( ที่มา : https://bit.ly/3lf8iUE )

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀การกระจายสินค้า (Retail) หรือการขนส่ง การพัฒนาระบบการขนส่งเป็นการช่วยให้เกิดการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้ผู้ให้บริการอาหาร (Food Services) หรือร้านค้า เป็นธุรกิจที่เกิดการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการที่ส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀ผู้ให้บริการอาหาร (Food Services) หรือร้านค้า เป็นธุรกิจที่เกิดการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการที่ส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง ( ที่มา : https://bit.ly/3lf8iUE )

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀ผู้บริโภค (Consumption) เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เป็นผู้ซื้อหรือใช้สินค้าและบริการ

⠀⠀⠀⠀●⠀⠀ของเสีย (Waste) จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมดในประเทศไทย เกิดจากอาหารที่เหลือจากการบริโภคทั้งในครัวเรือน อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านค้า โรงแรม ขยะที่สร้างขึ้นในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิตที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ และการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ดีทำให้เกิดการเน่าเสีย ขยะอาหารส่วนใหญ่ถูกนำไปฝังกลบ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ( ที่มา : https://bit.ly/3PmZSsk )


ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบอาหาร


⠀⠀⠀⠀1. เกษตรกรรมอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่พัฒนาไปสู่การผลิตจำนวนมากเพื่อป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้แลกมาด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น การเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียหน้าดิน การคุกคามพื้นที่ป่า การตกค้างของสารเคมีอันตรายในแหล่งน้ำ และยังก่อให้เกิด “เขตมรณะ (Dead Zone)” เป็นเขตที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ทั้งในแหล่งน้ำ และมหาสมุทร ( ที่มา : https://bit.ly/3luYpCJ )

⠀⠀⠀⠀2. ปัญหาจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง สารเคมีช่วยลดต้นทุนให้กับการผลิตผลผลิต แต่การใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงมีผลเสียด้านสุขภาพต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตในระบบอาหาร ( ที่มา : https://bit.ly/3luYpCJ )

⠀⠀⠀⠀3. อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ทั่วโลกมีการบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรและเป็นที่มาของก๊าซเรือนกระจก ( ที่มา : https://bit.ly/3luYpCJ )

⠀⠀⠀⠀4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ภาวะโลกร้อน จากการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้มวลน้ำแข็งละลายและเกิดการระเหยเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเล ความแปรปรวนที่เพิ่มขึ้นของรูปแบบสภาพอากาศ และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์ ( ที่มา : https://bit.ly/3lf8iUE , https://bit.ly/3NiA1jc )

⠀⠀⠀⠀5. สงครามและความเปราะบางของระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรม ปี 2565 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบอาหารของโลก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นฐานการผลิตสำคัญในสัดส่วนร้อยละ 12 ของโลก โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกธัญพืชมากที่สุดของโลก(17.7%) และยูเครนอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลก (8%) ในฝั่งของประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ( ที่มา : https://bit.ly/3PhWb7n )

⠀⠀⠀⠀6. เกษตรพันธสัญญา ความสัมพันธ์ในเกษตรพันธสัญญาคือการจ้างทำของ โดยมีการผลักภาระทั้งพื้นที่เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ การสร้างโรงเรือน ซื้ออาหาร ปุ๋ย และยารักษาโรค ให้เกษตรกร ซึ่งหากเกิดความเสียหาย ความเสี่ยงทั้งหมดกลับตกอยู่ที่เกษตรกรฝ่ายเดียว รัฐสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการสร้างความสัมพันธ์เท่าเทียมระหว่างเกษตรกรกับบรรษัท ( ที่มา : https://bit.ly/3MgTnFn )

⠀⠀⠀⠀7. เมล็ดพันธุ์กับเกษตรพันธสัญญา ประเทศไทยกำลังถูกจับตาว่า อาจเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ทำให้ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 นำมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ และ “ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ” ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพความมั่นคงทางอาหารของทุกคน ( ที่มา : https://bit.ly/3sxNHPy )

⠀⠀⠀⠀8. Covid-19 ต่อภาคเกษตรกรรมและอาหาร ส่งผลให้เกิดปัญหาตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิต โรงงานแปรรูปเกิดการระบาด การขาดแคลนแรงงาน มาตรการกักกันโรคส่งผลกระทบต่อการทำงาน การขนส่งและกระจายผลิตผล ไปจนถึงผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก มีอาหารไม่หลากหลาย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงานไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารได้อย่างเพียงพอ ภาคเกษตรกรไม่สามารถขายสินค้าได้เนื่องจากอุปสรรคในการขนส่ง และอาจส่งผลกระทบระยะยาว จากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ( ที่มา : https://bit.ly/3sxNHPy )

⠀⠀⠀⠀9. โรคระบาดหมู การระบาดของอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fever หรือ ASF) ทำให้หมูล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในประเทศไทยพุ่งสูงติดอันดับโลก หากไม่ได้รับการแก้ไข เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะค่อยๆหายไป อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูจะตกอยู่ในมือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น ( ที่มา : https://bit.ly/3lfCv66 )

⠀⠀⠀⠀10. น้ำมันแพง เมื่อราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการขนส่งสินค้า วัตถุดิบบางรายการเริ่มจัดส่งช้าลง หรือส่งได้ไม่ทัน เกิดการสูญเสีย ทำให้ราคาวัตถุดิบต่างๆปรับตัวสูงขึ้นตาม ( ที่มา : https://bit.ly/3wjIqNH )


แนวทางการแก้ปัญหา


⠀⠀⠀⠀1. สร้างความตระหนักรู้ด้านระบบอาหาร ความรอบรู้ด้านอาหารจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงวงจรชีวิตของอาหารทั้งวงจร เช่น รู้ว่าปลูกที่ไหน ผลิตอย่างไร ใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ อาหารจะไปที่ไหนต่อหลังจากที่เรารับประทานแล้ว ความหมายของอาหารเชิงวัฒนธรรม ศักยภาพในการเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการตัดสินใจที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี และการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง เป็นต้น

⠀⠀⠀⠀2. สร้างความตระหนักรู้ด้านการสูญเสียในระบบอาหาร ต้นทุนการสูญเสียอาหารมีทั้งประเภทที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ของเสียที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม น้ำ ไฟ น้ำมันที่เผาผลาญในการขนส่ง และประเภทที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น ทรัพยากรวัตถุดิบทางธรรมชาติ แรงงานของคนที่ลงแรงทำในทุกขั้นตอน รวมถึงการจัดการสินค้าอาหาร และการจัดเก็บ การใช้น้ำ ไฟฟ้า ยาสารเคมี อีกทั้งสารสังเคราะห์ในทุกกระบวนการผลิต การทำความสะอาด การกำจัด เป็นต้น ( ที่มา : https://bit.ly/39ngJum )

⠀⠀⠀⠀3. แนวคิดระบบอาหารชุมชน หรือระบบอาหารท้องถิ่น เน้นไปที่การผลิตอาหารหรือช่องทางการตลาดทางเลือก ที่จะเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าด้วยกันเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ผลิตอาหาร สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตอาหารและผู้กระจายสินค้าโดยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่ต้องส่งอาหารออกไปขายนอกพื้นที่การผลิต ชุมชนที่ยืดหยุ่นและมีระบบอาหารในท้องถิ่นจะสามารถรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

⠀⠀⠀⠀4. แนวคิด BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการคำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ( ที่มา : https://www.bcg.in.th/bcg-action-plan/ )

⠀⠀⠀⠀5. แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการบริหารจัดการของเสียในกระบวนการผลิตอาหาร ของเหลือใช้จะถูกคิดวิเคราะห์ ออกแบบ นำกลับมาหมุนเวียนใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอด ในทางใดทางหนึ่ง ( ที่มา : http://bit.ly/2bjSmiL )

⠀⠀⠀⠀6. กรณีศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวปกป้องภารกิจการผลิตอาหาร (Food movement) ลาเวียคัมเปซินา (La Via Campesina) องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่รายย่อยจากทั่วโลก ที่เผชิญกับปัญหาการรุกคืบของธุรกิจการเกษตรที่ร่วมมือกับอำนาจรัฐ เพื่อดำเนินนโยบายการเกษตรเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรม และเบียดขับชาวนาชาวไร่รายย่อยออกไป นำมาซึ่งปัญหาการสูญเสียที่ดินจากการแย่งชิง การกว้านซื้อที่ดิน การถูกบังคับให้ละทิ้งถิ่นฐานและอาณาเขต การใช้กำลังทหารหรือกองกำลังติดอาวุธละเมิดสิทธิของชาวนาในพื้นที่พิพาทด้านทรัพยากร การใช้ความรุนแรงและการดำเนินคดีอาญาต่อชาวนาชาวไร่รายย่อยที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของตน การทำให้ชาวนาชาวไร่รายย่อยสูญเสียการเข้าถึงตลาด และสูญเสียการควบคุมด้านราคา การแปรรูป และการตลาดของอาหาร ( ที่มา : https://prachatai.com/journal/2012/11/43504 )

⠀⠀⠀⠀7. กรณีศึกษา เมืองกีโต้ หรือซานฟรันซิสโกเดกิโต เมืองหลวงของประเทศเอกวาดอร์ มี “ยุทธศาสตร์อาหารของเมือง” เป็นเกราะป้องกันให้คนในเมืองรอดพ้นจากวิกฤตอาหาร โดยมี Quito Food Strategy เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเมือง ได้แก่ การันตีความพอเพียงของสินค้าในตลาดอาหารที่เมืองผลิตได้เอง มีระบบการกระจายสินค้าที่เข้าถึงจากทุกมุมเมือง มีการควบคุมราคาสินค้าอาหาร ควบคุมความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคุมการเปิด-ปิด ร้านอาหารต่างๆ แบ่งปันอาหารให้กับคนไร้บ้านและแรงงานยากจน และมีบริการขนส่งอาหารถึงบ้านกลุ่มคนเปราะบางที่ติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านทางเทศบาล ( ที่มา : https://bit.ly/3whLESc )

⠀⠀⠀⠀8. กรณีศึกษา เมืองเมเดลลิน ประเทศโคลอมเบีย เน้นบทบาทของเทศบาลในการจัดการมีโครงการผลิตอาหารของเมืองโดยการใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเปลี่ยนมาเป็นแปลงผลิตอาหาร, มีโครงการของเทศบาลที่สามารถผลิตอาหารจากชนบทเพื่อเลี้ยงคนในชุมชนในช่วงกักตัวได้, เชื่อมโยงและกระจายอาหารให้กับคนเปราะบางในเมือง และสร้างแพลทฟอร์มรองรับการซื้อขายสินค้าเกษตรทางออนไลน์ ( ที่มา : https://bit.ly/3whLESc )

⠀⠀⠀⠀9. กรณีศึกษา เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เน้นบทบาทของประชาสังคม ผู้ประกอบการทางสังคมที่ผลิตและกระจายอาหารในเมืองรวมตัวกันในนาม the moving feast ช่วยแบ่งปันอาหารที่ผลิตในเมืองให้กับผู้มีรายได้น้อย เปลี่ยนการปลูกไม้ประดับในสวนสาธารณะของชุมชนเป็นการปลูกผัก เพื่อนำผลผลิตไปช่วยเหลือคนในสังคม เปิดตลาดเกษตรออนไลน์ เจ้าของร้านอาหารบางส่วนผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการทางสังคม ( ที่มา : https://bit.ly/3whLESc )

⠀⠀⠀⠀10. กรณีศึกษา เมืองอันตานานารีโว เมืองหลวงประเทศมาดากัสการ์ มีการส่งเสริมแต่ละครัวเรือนให้ทำ micro-food system ของตัวเอง โดยภาคประชาสังคมหรือ NGO เพื่อรับมือกับวิกฤติต่างๆ มีระบบเชื่อมโยงและกระจายอาหารทั้งห่วงโซ่และมียุทธศาสตร์เรื่องอาหาร ( ที่มา : https://bit.ly/3whLESc )

⠀⠀⠀⠀11. กรณีศึกษา เมืองฮาวาน่า ประเทศคิวบา จากการถูกคว่ำบาตร ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร ประชาชนไม่มีอาหารกิน การทำเกษตรในเมืองจึงเป็นตัวตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตขาดแคลนอาหารได้ ( ที่มา : https://bit.ly/37Phv38 )

⠀⠀⠀⠀12. กรณีศึกษา เมืองโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา ใช้การผนวกเรื่องอาหารและเกษตรในเมืองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง เชื่อมโยงไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การดูแลระบบนิเวศของเมือง ประกอบกับปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ เช่น Publicly-owned food terminal, Supply management system, Community of food practice, Food banks, การระดมเงินเพื่อบริจาค และสถาบันสอนทำอาหาร สิ่งเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้เมืองมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว เผชิญกับวิกฤตได้ดี ( ที่มา : https://bit.ly/3whLESc )

⠀⠀⠀⠀13. แนวคิดการสร้างระบบอาหารของเมืองเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ วงจรของสินค้าเกษตร คือ ปลูกนอกเมือง แล้วระบบขนส่งจะลำเลียงมาในเมือง แล้วค่อยๆขยายตลาดไปสู่นอกเมืองอีกครั้ง กล่าวคือแม้ว่าผลไม้จะปลูกที่เชียงใหม่ แต่คนกรุงเทพฯจะได้บริโภคก่อน เมื่อเกิดวิกฤตด้านการขนส่ง ผลไม้จึงมีราคาสูงขึ้น ดังนั้นแต่ละชุมชน ควรสร้างแหล่งอาหารภายในชุมชน หรือแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน ที่พึ่งพาตนเองได้เมื่อเกิดวิกฤตหรือภัยพิบัติ ( ที่มา : https://bit.ly/3NiIiUn )


ระบบอาหารที่ยั่งยืน


⠀⠀⠀⠀1. ระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food Systems: SFS) เป็นระบบอาหารที่ให้ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการแก่ทุกคนในมิติด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับคนรุ่นต่อไป มีประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคม (ความยั่งยืนทางสังคม) และมีผลกระทบเชิงบวกหรือเป็นกลางต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ (ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม) เป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDG) ( ที่มา : https://bit.ly/3LgTTlt )

⠀⠀⠀⠀2. โครงสร้างระบบอาหารยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จ ความยั่งยืนจะถูกตรวจสอบอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่จำเป็นที่ช่วยเกิดระบบอาหารที่ยั่งยืน ได้แก่ การเพิ่มหรือรักษาผลผลิตและประสิทธิภาพในขณะที่ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม การลดการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหาร การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพและใช้ทรัพยากรน้อยลง การกระจายความเสี่ยงเพื่อรับมือผลกระทบจากรอบด้านโดยเฉพาะจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มความรับผิดชอบและการดูแลของผู้ผลิตและผู้บริโภค ( ที่มา : https://bit.ly/3LgTTlt )

⠀⠀⠀⠀3. นโยบายที่เอื้อต่อระบบอาหาร การร่างข้อเสนอเชิงนโยบายจะนาไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงระบบอาหารได้มากขึ้น และจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมเข้าไปสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกันได้อย่างยั่งยืนขึ้น ( ที่มา : https://bit.ly/3wr8KEx )

⠀⠀⠀⠀4. มีเครื่องมือการวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหาร การวิเคราะห์และการเข้าใจระบบอาหารทำให้ทราบถึงความเชื่อมโยงของส่วนต่างๆ ในระบบอาหารทั้งหมด เพื่อให้ตระหนักถึงความเปราะบางโดยธรรมชาติของระบบสังคมและเทคโนโลยี

⠀⠀⠀⠀5. เทรนด์ใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอาหารหลังโควิด เช่น การขายอาหารในหลายช่องทาง ร้านอาหารเล็กลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ใช้แอปพลิเคชันอำนวยความสะดวก ขยายธุรกิจโดยไม่ต้องมีหน้าร้านของตัวเอง นำเทคโนโลยี/หุ่นยนต์มาช่วยงานบริการ เทรนด์อาหารสุขภาพ เป็นต้น ( ที่มา : https://bit.ly/3yAoQ1v )

⠀⠀⠀⠀REFOCUS ถือกำเนิดมาจากงานวิจัยร่วมระหว่าง University of York ประเทศอังกฤษกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยทุนวิจัยจาก Newton Fund, British Council และ สำนักงานการวิจัยเพื่อให้เราได้ทำความเข้าใจกับการแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยมีอาหารเป็นต้นเรื่อง ให้เราทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเสวนา และวินิจฉัย ปัญหาที่เกิดจากระบบอาหาร ร่วมกันอย่างมีอรรถรส